Revolutions of 1830 (-)

การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ (พ.ศ. ๒๓๗๓)

การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ เป็นเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจรัฐในประเทศต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมที่เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงขยายพระราชอำนาจโดยการเข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมที่ต่อต้านฝรั่งเศส ขณะเดียวกันนโยบายการรวมดินแดนที่มีประชากรเชื้อชาติเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น การกำจัดอำนาจเก่า และการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐหรือรัฐชาติ (nation state) ขึ้นก็สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชากรในดินแดนนั้น ๆ อย่างไรก็ดีในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ที่ประชุมได้ละเลยความต้องการนี้ของประชาชนและจัดระเบียบยุโรปใหม่โดยหันไปใช้ระบอบเก่า โดยให้ดินแดนเหล่านี้อยู่ใต้ปกครองของต่างชาติหรือถูกรวมเข้ากับดินแดนอื่นที่มีผลประโยชน์ขัดกันหรือฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือการให้อำนาจแก่ผู้ปกครองเดิม จึงก่อให้เกิดขบวนการปฏิวัติและการต่อต้านรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิวัติที่สำคัญใน ๔ ประเทศ กล่าวคือ การปฏิวัติในฝรั่งเศสและเบลเยียม ซึ่งเป็นการปฏิวัติแบบจารีต (classic revolution) ที่ต้องการล้มล้างอำนาจการปกครองแบบเก่าและจัดตั้งประเทศอธิปไตยตามลำดับ ส่วนการปฏิวัติในโปแลนด์เป็นการต่อต้านอำนาจต่างชาติ และการปฏิวัติในสวิตเซอร์แลนด์เป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ มีจุดเริ่มต้นในฝรั่งเศสประชาชนต่างไม่พอใจที่พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)* แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ทรงพยายามฟื้นฟูพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อิทธิพลชองคริสตจักรโรมันคาทอลิกและพวกชนชั้นขุนนาง ตลอดจนการอนุมัติเงินจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านฟรังก์เพื่อชดเชยแก่พวกเอมิเกร (émigrés) ซึ่งประกอบด้วยพระราชวงศ์และขุนนางที่หลบหนีภัยออกนอกประเทศในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ความขัดแย้งได้ถึงจุดแตกหักเมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ทรงออกพระราชกำหนด ๔ ฉบับที่เรียกรวมกันว่าพระราชกำหนดแซงกลู (Ordinances of st. Cloud) เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ ประกาศยุบสภาผู้แทนที่เพิ่งเลือกตั้งเข้ามาใหม่ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พระราชกำหนดแซงกลูมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งใหม่โดยจะสงวนสิทธิ์การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนแก่เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นชนชั้นขุนนางเจ้าที่ดินเท่านั้น

 การออกพระราชกำหนดแชงกลูก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากประชาชนในกรุงปารีสทันทีในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ชาวปารีสต่างเดินขบวนและเกิดการต่อสู้กับรัฐบาลจนเกิดเป็นเหตุการณ์ “การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐” หรือ “การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม” (July Revolution) แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถปราบปรามการปฏิวัติได้เพราะทหารจำนวนมาก เข้าข้างประชาชน ในเวลาเพียง ๓ วันพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ก็ถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติและต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ นับเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์บูร์บงที่มีอำนาจปกครองฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๘๙ (ยกเว้นระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๘๑๔) มีการอัญเชิญดุ๊กแห่งออร์เลออง (Duke of Orléans) ให้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* เกิดระบอบกษัตริย์ราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคม (July Monarchy) ที่กษัตริย์มีฐานะเป็น “กษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส” (King of the French) ที่ถูกลดอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์กับประชาชนมากกว่ากับรัฐ

 การปฏิวัติเบลเยียม ค.ศ. ๑๘๓๐ เกิดจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕ ซึ่งได้ตกลงให้รวมดินแดนเบลเยียมเข้ากับเนเธอร์แลนด์และสถาปนาเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) เพื่อเป็นรัฐกันชนและปราการขวางกั้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศสตามหลักการปิดล้อมฝรั่งเศส (Principle of Containment) สร้างความไม่พอใจเป็นอันมากให้แก่ชาวเบลเยียมซึ่งได้รับอิทธิพลของกระแสเสรีนิยมและชาตินิยมจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียนซึ่งฝรั่งเศสได้ช่วยปลดแอกเบลเยียมจากการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* แม้ในความเป็นจริงเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมจะเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานในอดีต แต่การแยกตัวออกจากกันตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็ทำให้ดินแดนทั้งสองต่างมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

 นอกจากนี้ ชาวเบลเยียมยังรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างตนกับชาวดัตช์ทั้งในด้านภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี อาชีพ และโดยเฉพาะด้านศาสนาซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เบลเยียมไม่เข้าร่วมกับสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ (United Provinces of Netherlands; United Provinces) ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ใน ค.ศ. ๑๕๗๙ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังมีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวเบลเยียมอีกด้วย กล่าวคือ การที่ชาวเบลเยียมประกอบอาชีพทางอุตสาหกรรมและต้องการให้กำหนดอัตราศุลกากรขาเข้าสูง แต่ชาวดัตช์มีอาชีพทางเกษตรกรรมและพาณิชยกรรมและสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการค้าเสรี นอกจากนี้ ชาวเบลเยียมยังได้รับสิทธิทางการเมืองน้อยกว่าชาวดัตช์โดยชาวเบลเยียมจำนวน ๓.๔ ล้านคนมีผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่ากับชาวดัตช์ที่มีจำนวนเพียง ๒ ล้านคน ทั้งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังส่งชาวดัตช์ไปดูแลและปกครองในเขตของชาวเบลเยียม รวมทั้งกีดกันไม่ให้ชาวเบลเยียมมีตำแหน่งสูงในราชการ ทั้งให้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการและกีดกันไม่ให้คริสตจักรคาทอลิกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับด้านการศึกษาอีกด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจ เป็นอย่างยิ่งแก่ชาวเบลเยียม

 ความรู้สึกของชาวเบลเยียมที่ต่อต้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และชาวดัตช์ได้ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ ลุย เดอ ปอตเต (Louis de Potter) นักหนังสือพิมพ์ที่นิยมลัทธิเสรีนิยมได้จัดตั้งสหภาพแห่งการต่อต้าน (Union of Opposition) ขึ้นเพื่อรวมพลังชาวเบลเยียมในการต่อต้านพวกดัตช์ กระนั้น ชาวเบลเยียมก็ยังไม่ได้ดำเนินการรุนแรงใด ๆ ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมขึ้นในฝรั่งเศสความสำเร็จของการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม กอปรกับการจัดการแสดงอุปรากรปลุกความรู้สึกชาตินิยมในเบลเยียมเรื่อง La Muette de Portici ของดานีล โอแบร์ (Daniel Auber) ได้เป็นแรงดลใจและแรงกระตุ้นให้ชาวเบลเยียมลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ เพื่อเรียกร้องให้แยกการบริหารเบลเยียมออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก การจลาจลได้แพร่ออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งเบลเยียม

 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์พยายามปราบปรามการจลาจลโดยส่งกองทหารจำนวน ๑๔,๐๐๐ คน เข้าไปรักษาความสงบในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยั่วยุให้ชาวเบลเยียมใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดได้เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายทหารกับประชาชนเบลเยียมและกลายเป็นการก่อการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ฝ่ายปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นและอีก ๒ วันต่อมาก็สามารถขับกองกำลังของเนเธอร์แลนด์ออกจากกรุงบรัสเซลส์ได้ ในวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ รัฐบาลชั่วคราวก็ประกาศสถาปนาเบลเยียมเป็นรัฐเอกราชได้สำเร็จ

 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐ ผู้แทนของประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ได้แก่ ออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย และอังกฤษ ได้มาประชุมที่กรุงลอนดอนเพื่อพิจารณาปัญหานี่ร่วมกัน ที่ประชุมเห็นว่าการจัดตั้งสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้ว (fait accompli) ส่วนปัญหาของเบลเยียมต่างก็ยอมรับรองเอกราชและการสถาปนาเบลเยียมเป็นราชอาณาจักรต่อมา ชาวเบลเยียมได้ทูลเชิญเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชสกุลซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์ (Saxe-Coburg-Gotha-Saalfeld) พระสวามีม่ายในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte) รัชทายาทสมมติแห่งอังกฤษที่สิ้นพระชนม์ ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ ให้เป็นกษัตริย์ของชาวเบลเยียมในพระนามพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๖๕)* อย่างไรก็ดี เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ยอมรับรองเอกราชของเบลเยียม จนถึง ค.ศ. ๑๘๓๙ การปฏิวัติเบลเยียม ค.ศ. ๑๘๓๐ จึงประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์

 ขณะที่เบลเยียมก่อการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ นั้นในโปแลนด์ก็เกิดการปฏิวัติโปแลนด์ ค.ศ. ๑๘๓๐ ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันว่า “การลุกฮือเดือนพฤศจิกายน” (November Uprising) “สงครามโปแลนด์-รัสเซีย ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๑” (Polish-Russian War 1830-1831) และ “การปฏิวัติของนักเรียนนายทหาร” (Cadet Revolution) การปฏิวัติในโปแลนด์สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่ออำนาจอธิปไตยของประเทศและการดำรงอยู่ของชาติ โปแลนด์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ และมีฐานะเป็นราชอาณาจักรในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โปแลนด์ถูกมหาอำนาจยุโรปตะวันออก ได้แก่ รัสเซีย ออสเตรีย และปรัสเซียแบ่งแยกดินแดนจนประเทศถูกสลายและชื่อโปแลนด์ก็ถูกลบหายไปจากแผนที่ยุโรปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ในระหว่างสงครามนโปเลียนชาวโปลได้ให้การสนับสนุนฝรั่งเศสในการทำสงครามกับฝ่ายสหพันธมิตรจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงตอบแทนชาวโปลโดยรวบรวมดินแดนที่ปรัสเซียได้ยึดครองในการแบ่งโปแลนด์และจัดตั้งแกรนด์ดัชชีแห่งวอร์ซอ (Grand Duchy of Warsaw) ขึ้นอย่างไรก็ดี ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้พิจารณายกดินแดนส่วนใหญ่ให้แก่รัสเซีย โดยเรียกชื่อใหม่ว่า ราชอาณาจักรโปแลนด์แห่งคองเกรส (Congress Kingdom of Poland) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าคองเกรสโปแลนด์ (Congress Poland) นับเป็นการเพิกเฉยต่อกระแสชาตินิยมในโปแลนด์และกลายเป็นแรงต่อต้านของชาวโปลต่อรัฐบาลรัสเซียมาโดยตลอด แม้ว่าใน ค.ศ. ๑๘๑๘ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* ในฐานะประมุขของโปแลนด์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแก่โปแลนด์ก็ตาม อย่างไรก็ดี หลัง ค.ศ. ๑๘๑๙ เป็นต้นมาก็ทรงยกเลิกนโยบายเสรีนิยมทั้งในจักรวรรดิรัสเซียและโปแลนด์โดยปกครองประเทศอย่างเข้มงวดรวมทั้งให้มีการตรวจสอบสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ และยกเลิกระบบสมาคมภราดรภาพที่สมาชิกของสมาคมผนึกกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)* เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงดำเนินการควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดและต่อต้านการปฏิรูปต่าง ๆ นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้ร้อยโท ปียอตร์ วิซอซกี (Piotr Wysocki) นายทหารหนุ่มชาวโปลจากวิทยาลัยการทหารแห่งรัสเซีย (Imperial Russian Army’s Military Academy) ในกรุงวอร์ซอซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม และการก่อกบฏของชาวเบลเยียมรวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งที่เป็นนายทหาร นักเรียนนายทหารและปัญญาชนลุกฮือก่อกบฏต่อต้านการปกครองของรัสเซียในโปแลนด์เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๑ เพื่อแยกโปแลนด์เป็นเอกราช กอปรกับการลุกฮือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่โปแลนด์กำลังมีปัญหาการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผลและราคาอาหารขึ้นสูง ทั้งเบียร์ซึ่งเป็นเครื่องดื่มทั่วไปก็มีราคาเพิ่มสูงกว่าเท่าตัว ชาวโปลทั่วไปโดยเฉพาะกรรมกรจึงร่วมก่อการจลาจลด้วย โดยการบุกทำลายโรงงานทำเบียร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการจลาจลทางสังคมดังกล่าวจึงพัฒนาเป็นการต่อต้านรัสเซียในที่สุด

 ชาวโปลได้ขับแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนติน ปัฟโลวิช (Constantine Pavlovich) พระเชษฐาในซาร์นิโคลัสที่ ๑ และเป็นผู้แทนของรัสเซียหรือผู้สำเร็จราชการที่ปกครองโปแลนด์ออกจากวังเบลเวเดอร์ (Belweder Palace) ในกรุงวอร์ซอและจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติขึ้นปกครองประเทศโดยมีนายพลยูเซฟ คลอพีซกี (Józef Chlopicki) ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล เรียกว่า “ผู้บัญชาการการลุกฮือ” (Dictator of the Uprising) ในวันที่ ๕ ธันวาคม ต่อมาในวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๘๓๑ รัฐสภาโปแลนด์ (Sejm) ก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติขับซาร์นิโคลัสที่ ๑ ออกจากบัลลังก์โปแลนด์ ยุติบทบาทของซาร์แห่งรัสเซียในโปแลนด์และความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับรัสเซียที่มีพระประมุขร่วมกัน การกระทำดังกล่าวของรัฐสภาจึงเท่ากับเป็นการก่อกบฏและการประกาศสงครามกับรัสเซีย ทั้งยังเป็นการเปลี่ยน “การลุกฮือเดือนพฤศจิกายน” หรือ “การปฏิวัติของนักเรียนนายทหาร” เป็น “สงครามโปแลนด์-รัสเซีย ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๑” รัสเซียได้ส่งทหารจำนวน ๑๑๕,๐๐๐ คน ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล ฮันส์ คาร์ล ฟอน ดีบิทช์ (Hans Karl von Diebitsch) ข้ามพรมแดนโปแลนด์และเปิดศึกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๑ ในยุทธการที่สตาเซค (Battle of staczek) ทหารม้าของโปแลนด์สามารถรบชนะกองกำลังของรัสเซียได้ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาและสร้างความฮึกเหิมให้แก่กองทัพโปแลนด์เป็นอันมาก การสู้รบระหว่างกองทัพโปแลนด์กับรัสเซียดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลา ๙ เดือน โดยผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจนในที่สุดกองทัพรัสเซียก็มีชัยชนะอย่างเด็ดขาดในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๓๑ ต่อมาในวันที่ ๕ ตุลาคม ทหารโปลจำนวน ๒๐,๐๐๐ คนสุดท้ายที่ยังไม่ยอมจำนนได้ข้ามพรมแดนปรัสเซียและยอมปลดอาวุธที่เมืองบรอดนีกา (Brodnica) ให้แก่ฝ่ายรัสเซีย

 ความพ่ายแพ้ของกบฏโปลเป็นเพราะความแตกแยกในกลุ่มผู้นำการปฏิวัติซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ต้องการประนีประนอมกับรัสเซียกับฝ่ายที่ต่อต้าน และชาวนาที่เป็นฐานกำลังสนับสนุนสำคัญถอนตัวจากการต่อสู้เพราะเห็นว่าฝ่ายปฏิวัติทั้ง ๒ กลุ่มต่างเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ตน ฝ่ายกบฏยังคาดหวังว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะเข้าแทรกแซงแต่ทั้ง ๒ มหาอำนาจกลับดำเนินนโยบายเป็นกลาง รัสเซียจึงปราบปรามการกบฏได้อย่างราบคาบในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๓๑ และส่งนักโทษชาวโปลกว่า ๒๕,๐๐๐ คนไปไซบีเรีย ซาร์นิโคลัสที่ ๑ โปรดให้เพิกถอนสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ที่ชาวโปลเคยได้รับทั้งให้ตรากฎหมายองค์ประกอบสถานภาพ ค.ศ. ๑๘๓๒ (Organic Status of 1832) กำหนดให้โปแลนด์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียซึ่งแบ่งแยกไม่ได้ นอกจากนี้ รัสเซียยังใช้กฎอัยการศึกในการปกครองโปแลนด์และสั่งปิดมหาวิทยาลัยวอร์ซอและมหาวิทยาลัยวิลนา (Vilna) ซึ่งนักศึกษาเคยเข้าร่วมต่อต้าน ทั้งให้ยึดทรัพย์สินของฝ่ายกบฏ ประมาณว่ามีชาวโปลกว่า ๔,๐๐๐ คนหนีไปประเทศยุโรปตะวันตกและส่วนใหญ่เลือกไปตั้งรกรากอยู่ที่กรุงปารีส การปฏิวัติโปแลนด์ ค.ศ. ๑๘๓๐ จึงเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลวและชาวโปลต้องรอต่อไปอีกเป็นเวลา ๘๘ ปี กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โปแลนด์จึงได้รับการฟื้นฟูและจัดตั้งเป็นประเทศเอกราชอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๑๙

 ส่วนการปฏิวัติสวิตเซอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๘๓๐ เป็น “การดำเนินการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่แผ้วทางสู่การสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ของสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* นโปเลียนขณะเป็นแม่ทัพได้ยกทัพเข้ายึดครองสมาพันธรัฐสวิสใน ค.ศ. ๑๗๙๘ และจัดตั้งสาธารณรัฐเฮลเวติก (Helvetic Republic) ขึ้น นับเป็นการสิ้นสุดของสมาพันธรัฐที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ รัฐธรรมนูญใหม่ของสาธารณรัฐได้ล้มล้างการผูกขาดอำนาจในการปกครองของชนชั้นขุนนางในรัฐต่าง ๆ เพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางและให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิทัดเทียมกันทางกฎหมายขณะเดียวกันก็เพิกเฉยต่อเอกลักษณ์ของรัฐ (canton) และเมืองต่าง ๆ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนบางส่วน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่อาจนำไปสู่การลุกฮือและจลาจลได้ นโปเลียนจึงได้ประกาศใช้รัฐบัญญัติการประนีประนอม (Act of Mediation) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๐๓ เปลี่ยนการปกครองแบบสาธารณรัฐที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมาเป็นแบบสมาพันธรัฐอีกครั้ง รวมทั้งฟื้นสถานภาพรัฐเดิมของ ๑๓ รัฐและจัดตั้งรัฐใหม่อีก ๖ รัฐ รวมกันเป็นสมาพันธรัฐเฮลเวติก (Helvetic Confederation) ขณะเดียวกัน ก็ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางข้ามรัฐ มีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย และมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและอื่น ๆ อย่างไรก็ดี หลังจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สิ้นอำนาจ ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้กดดันให้สวิตเซอร์แลนด์ฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเก่าลดอำนาจและบทบาทของรัฐบาลกลาง และให้มีรัฐใหม่เข้าร่วมในสมาพันธรัฐอีก ๓ รัฐ รวมเป็น ๒๒ รัฐ นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกเสรีภาพต่าง ๆ ที่เคยระบุไว้ไนรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐเฮลเวติก ให้รัฐต่าง ๆ กลับมาใช้รูปแบบการปกครองแบบเดิม รวมทั้งให้พวกชนชั้นขุนนางหรือคหบดีกลับมามีบทบาทและอภิสิทธิ์เหมือนเดิม ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่พวกเสรีนิยมและชาตินิยมเป็นอันมาก

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมขึ้นในฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๓๐ พวกเสรีนิยมและชาตินิยมจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญชองสมาพันธรัฐให้มีลักษณะเป็นเสรีนิยมและประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๓๐ ซึ่งเรียกว่า “สมัยฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ” (Restoration) ในประวัติศาสตร์สวิส ผู้แทนในสภา (council) ของรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้แทนของพลเมืองที่อาศัยในเขตชนบทถูกลดจำนวนลงจากเดิม ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องให้สภาในรัฐต่าง ๆ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี แม้รัฐต่าง ๆ จะมีรัฐธรรมนูญและสภาประจำรัฐของตนเอง แต่สภาประจำรัฐต่างก็มีเป้าหมายในการดำเนินการที่สอดคล้องกันคือ (๑) การจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสันติ โดยให้มีการจัดสรรจำนวนที่นั่งของผู้แทนในสภาประจำรัฐและในสภาบริหาร (Tagsatzung) หรือรัฐบาลกลางของสมาพันธรัฐให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดจำนวนผู้แทนจากเมืองหลวงซึ่งมีจำนวนมากเกินไป และ (๒) ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยสภาประจำรัฐแต่ละรัฐต่างมีข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแต่ไม่ปรากฏว่ามีรัฐใดอนุญาตให้พลเมืองโดยทั่วไปมีส่วนในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเลย

 อย่างไรก็ดี การประชุมของสภาดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของสวิตเซอร์แลนด์และนำประเทศเข้าสู่สมัยการปฏิวัติรัฐธรรมนูญเรียกว่า “สมัยการสร้างประเทศใหม่” (Regeneration) ซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘ จนเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* เกือบทุกประเทศในยุโรปซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ การจุดประกายของ “สมัยการสร้างประเทศใหม่” นั้นก่อให้เกิดการประชุมสภาในรัฐต่าง ๆ สภาแรกจัดขึ้นที่เมืองไวน์เฟลเดิน (Weinfelden) ในทูร์เกา (Thurgau) ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐ และต่อมาในช่วงเวลาเดียวกันที่โวเลนชวิล (Wohlenschwil) อาร์เกา (Aargau) แซร์เซ (Sersee) ลูเซิร์น (Lucerne) และอุสเตอร์ทัก (Ustertag) ใกล้อุสเตอร์ (Uster) ในซูริก (Zurich) ในเดือนธันวาคมได้มีการประชุมสภาที่แซงกัลเลน (St. Gallen) ในวัตต์วิล (Wattwil) อัลชเตทเทิน (Alstätten) และแซงกัลเลนคัปเปอ (St. Gallenkappe) และบัลส์ทัล (Balsthal) ในโซโลทูร์น (Solothurn) และท้ายสุดที่มึนซิงเงอร์ (Münsinger) ในเบิร์น (Bern) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๓๑

 “การดำเนินการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ” ของสวิตเซอร์แลนด์นับว่ามีความสงบและเป็นไปโดยสันติ เป็นการปฏิวัติที่ปราศจากเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ การรายงานเกี่ยวกับการประชุมสภาในที่ต่าง ๆ ทั้งด้วยวาจาและข้อเขียนแพร่หลายไปทั่วสมาพันธรัฐและได้รับการต้อนรับจากประชาชทั่วไปเป็นอย่างดี ทั้งการประชุมก็เป็นไปด้วยระเบียบวินัยอย่างยิ่งในอาร์เกาและแซงกัลเลน แม้ฝูงชนจะก่อตัวและเดินขบวนเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่ก็เป็นไปโดยสันติ และที่ประชุมสภาของรัฐต่าง ๆ ก็ยินดีตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วย ภายในเวลาเพียง ๑ ปี รัฐต่าง ๆ ก็ยินยอมเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ของขุนนางและชนชั้นสูง รวมทั้งยกเลิกระบบการตรวจสอบสิ่งตีพิมพ์และอื่น ๆ ด้วยทำให้จำนวนหนังสือพิมพ์และนิตยสารทางการเมืองเพิ่มจำนวนจาก ๒๙ ฉบับเป็น ๕๔ ฉบับใน ค.ศ. ๑๘๓๔ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา ยกระดับคุณภาพครูผู้สอนและผลิตครูอาชีพเพื่อทำหน้าที่แทนชาวนาและช่างฝีมือที่มักต้องทำหน้าที่ครูล่วงเวลาด้วย และจัดตั้งมหาวิทยาลัยซูริกและมหาวิทยาลัยเบิร์นใน ค.ศ. ๑๘๓๓ และ ค.ศ. ๑๘๓๔ ตามลำดับ

 อย่างไรก็ดี “การดำเนินการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ” ก็ยังไม่สัมฤทธิ์สมบูรณ์ เพราะรัฐบาลกลางยังมิได้มีอำนาจรวมศูนย์อย่างเต็มที่ นอกจากได้รับอำนาจในการเก็บภาษีจากวัดและก่อตั้งระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เป็นต้น ขณะเดียวกันรัฐบาลกลางก็ยังคงให้อำนาจและเสรีภาพแก่รัฐต่าง ๆ ในการเลือกนับถือศาสนาแก่ประชาชนในรัฐ มีผลให้รัฐที่นับถือนิกายคาทอลิก ๗ รัฐรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตร เรียกว่า ซอนเดอร์บุนด์ (Sonderbund) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ สภาบริหารของสมาพันธรัฐจึงลงมติว่าการรวมกลุ่มดังกล่าวสร้างความแตกแยกและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐ รัฐอื่น ๆ ที่เหลืออีก ๑๕ รัฐ จึงร่วมมือกันส่งกองทัพเข้าปราบปรามกลุ่มซอนเดอร์บุนด์ ในเดือนพฤศจิกายน กลายเป็น “การปฏิวัติรัฐธรรมนูญ” ระลอกสอง สงครามกลางเมืองครั้งนี้ยุติลงภายใน ๒๕ วัน โดยสมาพันธรัฐเป็นฝ่ายมีชัย ทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นโดยการเลียนแบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลในรัฐต่าง ๆ และการจัดตั้งสมาพันธรัฐแบบรวมศูนย์ที่มีอำนาจในการกำหนดให้รัฐต่าง ๆ ปฏิบัติตามภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันรวมทั้งกำหนดให้รัฐต่าง ๆ ใช้ระบบต่าง ๆ เช่น ระบบเงินตราระบบชั่งตวง ระบบไปรษณีย์ และอื่น ๆ เป็นระบบเดียวกันทำให้ดินแดนต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสวิตเซอร์แลนด์มีเอกภาพและความแข็งแกร่งทั้งในด้านการเมือง การต่างประเทศ การทหาร เศรษฐกิจ และการค้าการปฏิวัติรัฐธรรมนูญที่เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๐ จึงเสร็จสมบูรณ์

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิวัติในรูปแบบต่าง ๆ ของประชาชนในฝรั่งเศส เบลเยียม โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ การปฏิวัติในฝรั่งเศสและเบลเยียมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและชัยชนะของประชาชนที่เป็นรูปธรรมโดยทันที ส่วนการปฏิวัติในสวิตเซอร์แลนด์เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำประเทศเข้าสู่ “สมัยการสร้างประเทศใหม่” ซึ่งกินระยะเวลาเกือบ ๑๘ ปี ท้ายที่สุดประเทศก็สามารถรวมกันเป็นปึกแผ่น มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และประชาชนมีเสรีภาพตามอุดมการณ์ เสรีนิยมและชาตินิยมที่ประชาชนเรียกร้องมาโดยตลอดส่วนในโปแลนด์นั้น แม้การปฏิวัติจะล้มเหลว แต่ก็เป็นการเติมเชื้อไฟให้แก่การเรียกร้องเพื่อปลดแอกตนเองจากอำนาจของต่างชาติ ในที่สุดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โปแลนด์ก็สามารถรักษาเอกลักษณ์ของชาติและสถาปนาเอกราชได้ซึ่งเป็นผลจากการเรียกร้องในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ หรือการลุกฮือเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๑ นั่นเอง.



คำตั้ง
Revolutions of 1830
คำเทียบ
การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐
คำสำคัญ
- กฎหมายองค์ประกอบสถานภาพ ค.ศ. ๑๘๓๒
- การแบ่งโปแลนด์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การลุกฮือเดือนพฤศจิกายน
- คลอพีซกี, ยูเซฟ
- ปอตเต, ลุย เดอ
- พระราชกำหนดแซงกลู
- ยุทธการที่สตาเซค
- ระบอบเก่า
- รัฐบัญญัติการประนีประนอม
- ราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคม
- ลัทธิเสรีนิยม
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามนโปเลียน
- สงครามโปแลนด์-รัสเซีย ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหมณฑล
- หลักการปิดล้อมฝรั่งเศส
- โอแบร์, ดานีล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๗๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-